สายด่วน : 02 315 9133

แร่ธาตุจำเป็นต่อชีวิต

      แร่ธาตุคือสารอนินทรีย์ ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ในขณะที่วิตามิน คือ สารประกอบอินทรีย์ ที่มีคาร์บอน เป็นองค์ประกอบ เวลาถูกเผา วิตามินกลายเป็นเถ้าถ่าน ส่วน แร่ธาตุ เมื่อถูกเผาจะได้เป็นเกลือ ตัวอย่างเช่น โซเดียม โปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน สังกะสี เหล็ก ไอโอดีน และซีลีเนียม เป็นต้น
      โปรตีนที่สำคัญหลายชนิด มีแร่ธาตุเป็นองค์ประกอบ ตัวอย่างเช่น เหล็ก เป็นองค์ประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีหน้าที่นำพาออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง และ ไอโอดีน เป็นองค์ประกอบหลักของธัยรอยด์ฮอร์โมน แร่ธาตุบางชนิดเป็น co-factor ในการทำงานของเอนซัยม์ เช่น สังกะสี มีความจำเป็นต่อการทำงานของเอนซัยม์ superoxide dismutase และ ซีลีเนียม ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของเอนซัยม์ glutathione peroxidase นอกจากนั้น แร่ธาตุยังมีความสำคัญในการป้องกันร่างกายจากพิษโลหะหนัก เพราะแร่ธาตุจะแย่งที่กับโลหะหนักในการจับกับโปรตีน ไม่เพียงแต่เท่านั้น การกำจัดพิษโลหะหนักของร่างกาย จำเป็นจะต้องใช้แร่ธาตุที่มีชื่อว่า กำมะถัน ดังนั้น คนที่ร่างกายขาดแร่ธาตุ จะมีโอกาสเกิดพิษจากโลหะหนักได้สูง
      แร่ธาตุที่คนส่วนใหญ่กินมากเกินไป ก็คือ เกลือแกง หรือโซเดียม คลอไรด์ เกลือโซเดียมมีความสำคัญในการคงสภาวะน้ำภายในหลอดเลือด จึงช่วยเพิ่มความดันโลหิต ซึ่งงานวิจัยได้พิสูจน์ว่า การรับประทานอาหารเค็มอยู่เป็นประจำ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูง
      สำหรับนักกีฬาเสียเหงื่อมาก ๆ หรือคนที่เป็นโรคท้องเสียรุนแรง จะส่งผลให้ร่างกายเสียเกลือ ทำให้ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ และอาจนำไปสู่ความดันตกที่เป็นอันตราย จึงจำเป็นจะต้องได้รับน้ำเกลือแร่เสริม ในทางกลับกัน เวลาที่เราไม่ได้ดื่มน้ำอยู่นาน ๆ ทำให้ร่างกายขาดน้ำ (แต่ไม่ได้ขาดเกลือ) ทำให้ความเข้มข้นของโซเดียมในเลือดสูงขึ้น มีผลกระตุ้นให้สมองรู้สึกหิวน้ำ เพื่อที่เราจะได้ดื่มน้ำ เป็นการป้องกันการขาดน้ำของร่างกาย นั่นคือเหตุผลที่ เวลาที่เรารับประทานอาหารเค็มมาก ๆ เราจึงรู้สึกหิวน้ำ
      แต่แร่ธาตุ ไม่ได้มีแค่ เกลือโซเดียม แต่ร่างกายยังต้องการแร่ธาตุ เช่น เกลือโปแตสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งพบมากในผักที่ปลูกจากดิน, ผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝรั่ง มัน และกล้วย, และธัญพืช เช่น ถั่ว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และงา โปแตสเซียมจะช่วยต้านฤทธิ์ของเกลือโซเดียม และแมกนีเซียมจะช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด ดังนั้น อาหารที่มีโปแตสเซียมและแมกนีเซียมสูง จึงเป็นอาหารที่ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
      เราได้แร่ธาตุจากอาหาร และน้ำดื่ม ที่มาจากดิน แต่เหตุผลที่คนไทยส่วนใหญ่ขาดแร่ธาตุ ก็เพราะ อาหารและน้ำที่เราซื้อกินทุกวันนี้ เป็นอาหารที่แทบจะไม่ได้มาจากดิน บ่อยครั้งที่เป็นอาหารสังเคราะห์ ปราศจากแร่ธาตุ (หรือมีแต่เกลือ แต่ปราศจากแร่ธาตุที่จำเป็นอื่น ๆ) อาหารในกลุ่มแป้ง เช่นข้าวและขนมปัง มีแร่ธาตุอยู่ไม่มาก เนื้อสัตว์ก็เป็นอาหารที่มีแร่ธาตุอยู่น้อย แม้แต่ผักและผลไม้ที่เรารับประทาน หากเป็นผักและผลไม้ที่ปลูกในน้ำ (hydroponic) ก็จะปราศจากแร่ธาตุที่สำคัญ นอกจากนั้น คนไข้ที่ปัสสาวะออกมาก เช่นเป็นโรคเบาหวาน หรือได้รับขับปัสสาวะ จะสูญเสียแร่ธาตุออกไปทางปัสสาวะ และมีโอกาสขาดแร่ธาตุได้สูง นอกจากนั้น การดื่มน้ำที่ผ่านกระบวนการ รีเวอรส์ ออสโมซิส (น้ำอาร์โอ) ที่ปราศจากแร่ธาตุ ก็จะทำให้ภาวะขาดแร่ธาตุของร่างกายรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผลของการขาดแร่ธาตุ ทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย เป็นตะคริวได้ง่าย มีภูมิต้านทานที่บกพร่อง เจ็บป่วยได้บ่อย แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ การเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลันได้
      ร่างกายของเราสร้างแร่ธาตุเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้จากอาหาร จึงอยากจะแนะนำให้คนทุกคน ควรเลือกกินอาหารที่มีเกลือแร่สูง คืออาหารที่มาจากดิน เช่นผักที่ปลูกในดิน ธัญพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดเจีย และ มันเทศ ฟักทอง และควรซื้อน้ำแร่ธรรมชาติดื่มบ้าง
      ในปัจจุบันมี อาหารเสริมแร่ธาตุ ซึ่งอาจมาในรูปที่รวมเกลือแร่หลาย ๆ ชนิด ในหนึ่งเม็ด ที่เรียกว่า multi-minerals หรือ แยกเป็นแร่ธาตุแต่ละชนิด เช่น potassium iodide เพื่อเสริม โปแตสเซียม และ ไอโอดีน, chelated zinc เพื่อเสริมสังกะสี, และ chelated magnesium เพื่อเสริมแมกนีเซียม เป็นต้น
      แม้แร่ธาตุ จะเป็นสารประกอบอนินทรีย์ แต่การรับประทานแร่ธาตุในรูปเกลืออนินทรีย์ จะก่อให้เกิดผลข้างเคียง ดังนั้น การเลือกอาหารเสริมแร่ธาตุ ควรเลือกในรูปคล้ายคลึงกับแร่ธาตุในธรรมชาติ ที่เรียกว่า amino acid chelated minerals นั่นคือ แร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของกรดอะมิโน การรับประทานแร่ธาตุในรูปนี้ จะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่น การรับประทานธาตุเหล็ก จะทำให้เกิดอาหารท้องผูก ผู้เขียนจึงแนะนำให้คนกินเหล็กที่มีอยู่ในอาหารธรรมชาติ เช่น เลือด หรือไข่แดง หรือแคลเซียมที่ถูกนำมาใช้เป็นอาหารเสริมและถูกโฆษณาว่าป้องกันโรคกระดูกบาง มักจะอยู่ในรูป calcium carbonate หรือหินปูน ที่เวลากินแล้ว ทำให้เกิดปัญหาท้องผูก เนื่องจากการดูดซึมไม่ดี นอกจากนั้น หินปูนที่ถูกดูดซึม ก็จะไม่สามารถถูกนำไปใช้ในการสร้างกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลับตกตะกอนเป็นตะกรัน อยู่ภายในผนังของหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน เราจึงควรรับประทาน แคลเซียมที่อยู่ในรูป chelated ดังตัวอย่างที่มีขายในชื่อการค้าว่า Ossopan หรือการรับประทาน ซีลีเนียม ที่เป็นอาหารเสริม ก็ควรจะอยู่ในรูปของ selenomethione หรือ yeast selenium ไม่ใช่ในรูป sodium selenite เป็นต้น