Hotline : 02 315 9133

Melatonin

     ทำไมคนเกือบทุกคน ที่แม้จะอยู่กันคนละซีกโลก มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่กลับมีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันที่เหมือน ๆ กัน นั่นคือ ตื่นเมื่อพระอาทิตย์ชึ้น ออกไปทำงาน และเข้านอนหลังพระอาทิตย์ตก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เป็นผลจากคลื่นพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นตัวกำหนด การดำเนินกิจวัตรประจำวันของคนทุกคนในโลก ที่เราเรียกว่า นาฬิกาชีวิต (circadian rhythm)
     นักวิทยาศาสตร์พบว่า ต่อมไพเนียล ที่อยู่ใต้สมอง มีหน้าที่ในการสร้างสารควบคุมการตื่นและการหลับ ที่มีชื่อว่า เมลาโตนิน โดยต่อมไพเนียลจะหลั่งเมลาโตนิน หลังจากพระอาทิตย์ตกดิน และเมื่อปราศจากแสงสว่างใด ๆ และจะหยุดหลั่งเมื่อยามพระอาทิตย์ขึ้น
     เมลาโตนินมีผลทำให้การตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแวดล้อม และการทำงานของ ระบบประสาทอัตโนมัติช้าลง บอกร่างกายว่าถึงเวลานอนแล้ว ทำให้เรารู้สึกง่วง ดังนั้น กฏแห่งการนอนที่ดีก็คือ ห้องนอนควรจะต้องมืดสนิท เพื่อช่วยให้เมลาโตนินหลั่งได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งแรกที่เราควรทำยามตื่นนอน ก็คือ เปิดผ้าม่าน เพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาในห้อง ซึ่งจะทำให้ร่างกายหยุดสร้างเมลาโตนิน แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้น ความเสื่อมของร่างกาย รวมทั้งต่อมไพเนียล จะทำให้การหลั่งเมลาโตนินลดน้อยลง ส่งผลทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มีปัญหานอนไม่หลับ และต้องพึ่งยานอนหลับ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีผู้นำเมลาโตนิน มาใช้เป็นอาหารเสริมในคนที่มีปัญหานอนไม่หลับ เช่น การนอนไม่หลับหลังจากเดินทางไกล (jet lag) ข้อดีของเมลาโตนิน ที่แตกต่างจากยานอนหลับก็คือ เมลาโตนิน เป็นสารธรรมชาติ ไม่ใช่สารเสพติด นอกจากนั้น ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
     ในประเทศไทยนั้น เมลาโตนิน ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยา แต่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิงคโปร์ เมลาโตนิน จัดเป็นอาหารเสริม จึงสามารถหาซื้อได้ทั่วไป อาจเป็นเพราะประเทศเหล่านี้ ตระหนักถึงปัญหาของการนอนไม่หลับ ที่มีผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุ และปัญหาอันเนื่องมาจากการติดยานอนหลับ การใช้เมลาโตนินที่มีขายเป็นอาหารเสริมนี้ แม้จะเป็นสารสังเคราะห์ แต่ก็มีโครงสร้างเหมือนเมลาโตนินธรรมชาติ จึงน่าจะปลอดภัยกว่าการใช้ยานอนหลับ ซึ่งงานวิจัยที่ผ่าน ๆ มา ก็พิสูจน์แล้วว่า เมลาโตนิน เป็นอาหารเสริม ที่สามารถทานต่อเนื่องได้อย่างปลอดภัย ไม่มีผลแทรกซ้อน ซึ่งแตกต่างจากการทานยานอนหลับชนิดอื่น ซึ่งเสพย์ติด และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม
     เมลาโตนิน ที่เป็นอาหารเสริม มีจำหน่ายในขนาด 1, 3, หรือ 5 มิลลิกรัม ซึ่งสามารถเลือกทานได้ตามความรุนแรงของปัญหาการนอน มีทั้งแบบรับประทาน และแบบอมใต้ลิ้นซึ่งจะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า สำหรับคนที่บอกว่า ทานเมลาโตนินแล้วก็ยังไม่หลับ แนะนำให้เคี้ยว เพราะจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น เนื่องจากไม่ถูกทำลายที่ตับ ในต่างประเทศ เราอาจพบเมลาโตนินในรูปแบบครีมทาตัว เพราะเมลาโตนิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ครีมเมลาโตนิน จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้หลับสบาย พร้อมกับได้สารบำรุงผิวอีกด้วย
     นอกจากนั้น ถ้าเราไปเดินตาม ซูเปอร์มาร์เกต เราอาจพบนมกล่องที่ใช้ทานก่อนนอน เพื่อช่วยให้หลับสบาย นมเหล่านี้ ถูกโฆษณาว่า มีปริมาณเมลาโตนินสูง เพราะได้มาจากแม่วัว ที่กำลังนอนหลับ (แต่ผู้เขียนก็ยังสงสัยว่า ฟาร์มนมมีวิธีเก็บนมมาได้อย่างไร เพราะหากเราเป็นแม่วัว กำลังนอนหลับอยู่ดี ๆ แล้วมีคนมาบีบนม เราจะยังคงหลั่งเมลาโตนินแล้วนอนหลับต่อไปได้ยาก!)
     ผู้เขียน เป็นคนหนึ่งที่เคยมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เป็นเพราะช่วงที่เป็นแพทย์ฝึกหัด ต้องอยู่เวรเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 วัน สูงสุดคือเดือนละ 23 วัน! (แล้วใครว่าหมอไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน) ช่วงกลางดึก ตีหนึ่งตีสอง ก็จะถูกพยาบาลปลุก เพื่อตามไปดูคนไข้ ส่งผลให้เวลาที่ไม่ได้อยู่เวร ก็มักจะตื่นขึ้นกลางดึกด้วยความเคยชิน ซึ่งต่อมา เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้ลองใช้ เมลาโตนิน ซึ่งพึ่งถูกนำออกมาขายเป็นอาหารเสริมได้ระยะหนึ่ง ภายหลังจากที่ได้ลองก็พบว่า ช่วยให้หลับได้ดีมาก ในช่วงแรก ๆ อาจมีฝันร้ายอยู่บ้าง เช่นฝันว่าไปสอบโดยไม่ได้เตรียมตัว แต่ภายหลังก็เป็นความฝันที่สนุก จนทำให้ผู้เขียนมีความสุขทุกเช้าหลังตื่น สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ผมหงอกจำนวนมากลดลง เพื่อนของผู้เขียน ถึงกับถามว่า ไปย้อมผมด้วยบีเง็นมาด้วยเหรอ
     จากประสบการณ์การใช้เมลาโตนินด้วยตนเอง มากว่า 20 ปี จึงทำให้ผู้เขียนสามารถยืนยันได้อย่างมั่นใจว่า การใช้เมลาโตนินเป็นเวลานาน ๆ นั้น ปลอดภัย ผลข้างเคียงของเมลาโตนินที่พบก็คือ อาการง่วงนอนตอนกลางวัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยลดขนาดเมลาโตนินลง หรือรับประทานให้เร็วขึ้น เมลาโตนิน จะทำให้มีอาการฝัน ซึ่งสำหรับบางคนอาจไม่ชอบ บอกว่าฝันร้าย แต่สำหรับผู้เขียนเองกลับรู้สึกว่า ฝันสนุก เช่นฝันว่าตนเองเป็นสายลับ ออกไปช่วยโลก และงานวิจัยต่าง ๆ ก็พิสูจน์แล้ว ว่าการใช้เมลาโตนินติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ นั้น ไม่มีอันตราย และยังอาจส่งผลที่เป็นบวก ต่อการทำงานของสมอง ช่วยในการลดน้ำหนักตัว เพิ่มภูมิต้านทาน ต้านเซลล์มะเร็ง และเมลาโตนินยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจเรียกได้ว่า เป็นฮอร์โมนต้านแก่ที่ดี
     แต่เป็นที่น่ากังวลใจ เพราะแพทย์และเภสัชกร หลาย ๆ ท่าน ยังมีความเข้าใจผิด ๆ ว่า เมลาโตนิน เป็นยานอนหลับอีกชนิดหนึ่งที่ไม่แตกต่างจากยานอนหลับที่มีอันตราย และปฎิเสธที่จะแนะนำให้กับคนไข้ ผู้เขียนหวังว่า คนที่ได้อ่านบทความนี้ จะได้โลกทัศน์ใหม่ และเข้าใจว่า เมลาโตนิน เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อร่างกายขาดไป ก็ควรรับประทานเสริม เมลาโตนิน เป็นหนึ่งของยาด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาของคนนอนไม่หลับ แต่ยังช่วยให้สุขภาพองค์รวมของร่างกายดีขึ้นอีกด้วย

ข้อขอบคุณ ดร.นพ. พัฒนา เต็งอำนวย

เอกสารอ้างอิง

1. Adamczyk-Sowa, M. Effect of melatonin supplementation on plasma lipid hydroperoxides, homocystein concentration and chronic fatigue syndrom in multiple sclerosis patiants treated with interferons-beta and mitoxantrone. J. Physiol. Pharmacol. 2016; 67: 235-242.
2. Ben-David, MA Melatonin for prevention of breast radiation dermatitis: a phase II, prospective, double-blind randomized trial. Isr. Med. Assoc. J. 2016; 18: 188-192.
3. Kozirog, M. et al. Melatonin treatment improves blood pressure, lipid profile, and parameters of oxidative stress in patients with metabolic syndrome. J. Pineal Res. 2011; 50: 261-266.
4. Langley, AR. et al. A cross-sectional study of breast cancer biomarkers among shift working nurses. BMJ Open. 2012; 2.
5. Tamura, H. et al. Melatonin treatment in peri- and post-menopausal women elevates serum high-density lipoprotein cholesterol levels without influencing total cholesterol levels. J. Pineal Res. 2008; 45: 101-105.
6. Waldhauser, F. et al. Alterations in nocturnal serum melatonin levels in humans with growth and aging. J. Clin. Endocrinol. Metab. 1988; 66: 648-652.
7. Weyerer, S. And Dilling, H. Psychiatric and physical illness, sociodemographic characteristics, and the use of psychotropic drugs in the community: esults from the upper Bavarian field study. J. Clin. Epidemiol. 1991; 44: 303-311.
8. Yaffe, K. et al. Sleep-disordered breathing, hypoxia, and risk of mild cognitive impairment and dementia in older women. JAMA 2011; 306: 613-619.