วิตามินดี ดีสมชื่อ
เราได้รับการสอนมาว่า วิตามินดีสร้างจากผิวหนัง ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า ประเทศไทย มีแดดแรงกล้า คนไทยจึงไม่มีใครขาดวิตามิน แต่งานวิจัยทั้งหมดพบว่า คนไทยจำนวนมากขาดวิตามินดี ความเข้าใจที่ผิด ๆ เช่นนี้ อาจส่งผลให้คนไทย ป่วยเป็นโรคอันเกิดจากการขาดวิตามินดี ซึ่งไม่ใช่มีแค่โรคกระดูกบาง แต่ยังรวมถึง โรคภูมิต้านทานบกพร่อง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง
หน้าที่หลักของวิตามินดี คือ เพิ่มการดูดซึมของ แคลเซียม และ ฟอสเฟต เพื่อนำไปใช้ในการสร้างกระดูก นอกจากนั้น วิตามินดี ยังมีบทบาทต่อระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการสร้างฮอร์โมนอินสุลิน จึงมีประโยชน์ในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ลดการสร้างเรนินที่ไต ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูง และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง อีกด้วย งานศึกษาทางด้านระบาดวิทยาพบว่า ระดับของวิตามินดีโดยเฉลี่ยของ ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน จะต่ำกว่าคนปกติ นอกจากนั้น งานวิจัยยังพบว่า คนไข้ในห้องผู้ป่วยวิกฤต (intensive care unit, ICU) ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น
สำหรับคนที่มีความเชื่อว่าวิตามินดี สร้างได้เองที่ผิวหนังที่ได้รับแสงแดด ก็ควรจะเข้าใจว่า การสร้างวิตามินดีจากผิวหนังนั้นมีขีดจำกัด การที่ผิวหนังจะสร้างวิตามินดีได้อย่างเพียงพอ แปลว่า เราต้องใส่เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น ตากแดดอย่างน้อย เป็นเวลา 15 นาที ทุกวัน คนส่วนใหญ่ในวัยทำงาน นิยมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ทำงานในตึก กลับบ้านหลังพระอาทิตย์ตก แทบจะไม่เคยได้ถูกแดด นอกจากนั้น ผู้หญิงเกือบทุกคน นิยมทายากันแดด และปฏิเสธที่จะออกแดด เวลาออกกลางแจ้งก็ต้องถือร่ม ใส่หมวก เพราะกลัวตัวดำ ทำให้คนเหล่านี้ มีโอกาสขาดวิตามินดี ผู้เขียนเคยเจาะเลือดพนักงานบริษัทไปตรวจดูระดับของวิตามินดีในเลือด พบว่า มีเพียงสามคนที่ไม่ขาดวิตามินดี คนแรกคือ พนักงานมอเตอร์ไซค์ส่งของ คนที่สองคือ แม่บ้านทำความสะอาดพื้นที่นอกอาคาร และคนที่สาม คือคนที่รับประทานวิตามินดีเสริมอยู่เป็นประจำ ส่วนพนักงานออฟฟิศที่เหลือทุกคน ขาดวิตามินดี ดังนั้น ประโยคที่นักวิชาการชอบพูดว่า ประเทศไทยมีแดด คนไทยจึงไม่ขาดวิตามินดี จึงเป็นคำพูดที่ไม่ได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคม
เนื่องจาก วิตามินดีที่สร้างที่ผิวหนัง จะอยู่ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ จะต้องไปถูกเปลี่ยนที่ตับ และไต ให้เป็นรูปที่ออกฤทธิ์ก่อน ดังนั้น คนที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่อง ก็มีโอกาสที่จะขาดวิตามินดี และควรได้รับวิตามินดีในรูปพิเศษกินเสริม แต่เป็นเรื่องน่าแปลก ที่หมอโรคตับในปัจจุบัน ไม่นิยมสั่งวิตามินดี ทั้ง ๆ ที่งานวิจัยจากห้องปฏิบัติการพบว่า วิตามินดี มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และ การขาดวิตามินดีในคนไข้โรคตับ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งหลายราย กลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด
เราสามารถได้รับวิตามินดี จากการรับประทานอาหารจำพวก ปลาทะเลที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณวิตามินดี ในอาหารธรรมชาติมีอยู่ไม่มาก ในต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของวิตามินดี จึงมีการเติมวิตามินดี เข้าไปในนม และน้ำส้ม ดังนั้น ความเชื่อที่ว่า นม และน้ำส้ม มีวิตามินดีสูง จึงใช้ได้กับประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทย ผู้ผลิตอาหารไม่สามารถจะเติมวิตามินดีลงไปในอาหารได้ เพราะหากมีการเติมวิตามินลงไปในอาหาร องค์การอาหารและยาจะสั่งให้ขึ้นทะเบียนอาหารเหล่านั้นเป็นยา และต้องนำไปวางจำหน่ายในร้านขายยา หรือในโรงพยาบาลเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในประเทศไทย คนที่ไม่กินปลาทะเล และไม่ได้ตากแดดอย่างเพียงพอ จึงมีโอกาสที่จะขาดวิตามินดี
ในปัจจุบัน มีบริการรับตรวจระดับของวิตามินดี ในเลือดซึ่งผู้เขียนสนับสนุนให้คนทุกคน ที่มีอายุเกิน 40 ปี ไปเจาะตรวจดูบ้าง ค่าปกติ ของวิตามินดีในเลือด จะต้องสูงกว่า 30 ng/ml ถ้าต่ำกว่า 20 ng/ml ควรรับประทานวิตามินดีเสริม
วิตามินดี ที่ใช้เป็นอาหารเสริม มีอยู่สองรูปแบบ แบบแรก เป็นวิตามินดี 2 ที่พบในพืช คือ เออร์โกแคลซิเฟอรอล (ergocalciferol) แบบที่สอง คือวิตามินดี 3 ที่พบในสัตว์ และมีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก คือ โคเลแคลซิเฟอรอล (cholecalciferol) เนื่องจากวิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จึงควรกินพร้อมอาหาร ในทางทฤษฎี เรามักจะได้ยินว่า การรับประทานวิตามินดี จะก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcemia) แต่เนื่องจากวิตามินดีที่เราใช้เป็นอาหารเสริม จะอยู่ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ โอกาสที่การรับประทานวิตามินดีเสริมอย่างต่อเนื่อง แล้วจะก่อเกิดภาวะ hypercalcemia ในคนที่การทำงานของตับและไตเป็นปกติ จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น งานวิจัยพบว่า เราสามารถรับประทาน วิตามินดี 3 ได้สูงถึงวันละ 5000 U โดยไม่มีผลข้างเคียง เช่นเดียวกับประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งก็ไม่เคยพบภาวะแคลเซียมสูงในเลือด ในคนปกติที่รับประทานวิตามินดีเสริมแต่อย่างใด
แต่เนื่องจากวิตามินดี จะสะสมอยู่ในเซลล์ไขมันในร่างกาย จึงอยากจะแนะนำให้กินในขนาดต่ำ เช่น วิตามินดี 3 ในขนาด 400-2000 U ต่อวัน อย่างต่อเนื่องมากกว่า เนื่องจากมีรายงานถึงการใช้วิตามินดี ขนาดสูงมาก 10,000 U ต่อวัน และทำให้เกิดการกระตุ้น เซลล์ macrophage ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ในการฆ่าสิ่งแปลกปลอม จนมีการทำงานที่ผิดปกติ และตามมาด้วยอันตรายต่อไต
การเลือกซื้อวิตามินดีรับประทานในเมืองไทย ผู้เขียนมักจะแนะนำให้ใช้เป็นวิตามินรวม ที่มีปริมาณวิตามินดี 3 อยู่ที่ 400 U ต่อวัน ถึงแม้ขนาดจะค่อนข้างต่ำ แต่เนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน การรับประทานอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเสริมให้ระดับวิตามินดีในเลือดเป็นปกติได้ หรือใช้เป็นวิตามินดี 3 เดี่ยว ๆ ในขนาด 1000 U - 5000 U ซึ่งมีจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถรับประทานวิตามินดี 3 ได้ เช่นคนที่เป็นมังสวิรัติ อาจเลือกใช้เป็น วิตามินดี 2 ในขนาด 20,000 U ต่อแคปซูล โดยให้รับประทานในขนาด 2 แคปซูลต่อสัปดาห์ เนื่องจากไต มีหน้าทีสำคัญในการเปลี่ยนวิตามินดี ให้เป็นรูปที่ออกฤทธิ์ ด้วยการเติมกลุ่ม hydroxyl group ที่ตำแหน่งที่ 1 ของ วิตามินดี 3 ดังนั้น คนที่เป็นโรคไต ผู้เขียนแนะนำให้ใช้วิตามินดี 3 ในรูป ของ 1 hydroxycholecalciferol ที่มีชื่อการค้าว่า One-alpha ส่วนคนที่เป็นโรคตับ ผู้เขียนจะแนะนำให้ใช้วิตามินดี 3 ในรูปที่ออกฤทธิ์ได้ทันที (active form) นั่นคือ 1, 25 dihydroxycholecalciferol ซึ่งมีชื่อการค้าว่า Rocaltrol เพราะตับมีหน้าที่ในการเติม hydroxyl group ในตำแหน่งที่ 25 ของวิตามินดี 3 (รูป) แต่เนื่องจาก การใช้วิตามินในรูปที่ออกฤทธิ์ได้ทันที จะมีโอกาสเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้ง่าย จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์
ถึงแม้การนำวิตามินดี มาใช้ในการรักษาโรคที่เป็นทียอมรับ ยังมีเพียงแค่โรคกระดูกบาง ส่วนการทดลองใช้วิตามินดี ในการรักษาโรคมะเร็ง หรือโรคภูมิต้านทานบกพร่อง ยังไม่ได้ผลดี ซึ่งอาจเป็นเพราะ กว่าที่ร่างกายจะป่วยเป็นโรค พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นมากแล้ว ดังนั้น อยากจะแนะนำว่า หากรู้ว่าตนเองขาดวิตามินดี ก็ควรกินเสริมกันตั้งแต่วันนี้ จะรอให้เกิดโรคก่อน แล้วค่อยมากิน ก็อาจจะสายเกินไป
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.นพ. พัฒนา เต็งอำนวย
เอกสารอ้างอิง
1. Holick MF. Vitamin D deficiency. N Engl J Med. 2007;357:266-281.
2. Allain TJ, Dhesi J. Hypovitaminosis D in older adults. Gerontology. 2003;49:273-278.
3. Lips P. Vitamin D deficiency and secondary hyperparathyroidism in the elderly: consequences for bone loss and fractures and therapeutic implications. Endocr Rev. 2001;22:477-501.
4. Gallacher SJ, McQuillian C, Harkness M, Finlay F, Gallagher AP, Dixon T. Prevalence of vitamin D inadequacy in Scottish adults with non-vertebral fragility fractures. Curr Med Res Opin. 2005;21:1355-1361.
5. Bischoff HA, Stähelin HB, Dick W, et al. Effects of vitamin D and calcium supplementation on falls: a randomized controlled trial. J Bone Miner Res. 2003;18:343-351.
6. Calvo MS, Whiting SJ, Barton CN. Vitamin D fortification in the United States and Canada: current status and data needs. Am J Clin Nutr. 2004;80(suppl 6):1710S-1716S.
7. Holick MF, Siris ES, Binkley N, et al. Prevalence of vitamin D inadequacy among postmenopausal North American women receiving osteoporosis therapy. J Clin Endocrinol Metab. 2005; 90:3215-3224.
8. Tjellesen L, Hummer L, Christiansen C, Rødbro P. Serum concentration of vitamin D metabolites during treatment with vitamin D2 and D3 in normal premenopausal women. Bone Miner. 1986:1:407-413.
9. Trang HM, Cole DE, Rubin LA, Pierratos A, Siu S, Vieth R. Evidence that vitamin D3 increases serum 25-hydroxyvitamin D more efficiently than does vitamin D2. Am J Clin Nutr. 1998;68:854-858.
10. Armas LA, Hollis BW, Heaney RP. Vitamin D2 is much less effective than vitamin D3 in humans. J Clin Endocrinol Metab. 2004;89:5387-5391.
11. Ilahi M, Armas LA, Heaney RP. Pharmacokinetics of a single, large dose of cholecalciferol. Am J Clin Nutr. 2008; 87:688-691.
12. Houghton LA, Vieth R. The case against ergocalciferol (vitamin D2) as a vitamin supplement. Am J Clin Nutr. 2006;84:694-697.