อาร์จินีน อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
หนึ่งในบรรดากรดอะมิโนที่ถูกนำมาใช้เป็นอาหารเสริม และได้รับความนิยมมากในหมู่นักกล้าม ก็คือ อาร์จินีน (Arginine) ซึ่งร่างกายสามารถสร้างได้ จากกรดอะมิโน ซิทรูลีน (Citrulline) และกรดอะมิโน ออร์นิทีน (Ornithine) เนื่องจากการกิน อาร์จินีนในปริมาณสูง อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร และออกฤทธิ์อยู่ไม่นาน ผู้ผลิตอาหารเสริมส่วนใหญ่ จึงนิยมผสม citrulline และ ornithine เอาไว้ด้วย เพื่อเป็นสารตั้งต้นที่ช่วยให้ร่างกายสามารถสร้าง อาร์จินีนได้อย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในเหตุผล ที่นักกีฬา และนักกล้าม หันมารับประทานอาร์จินีนเป็นอาหารเสริม ก็เพราะ อาร์จินีน เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายใช้ในการสร้าง ครีเอตีน (creatine) ที่เป็นโปรตีนหลัก ที่กล้ามเนื้อใช้สำหรับเก็บพลังงานในรูปของ ATP ซึ่งในปัจจุบัน ก็ได้มีการนำ ครีเอติน มาใช้เป็นอาหารเสริม ในรูปผงสำหรับชงดื่มเวลาออกกำลัง
สารครีเอติน (creatine) นั้น จะถูกเปลี่ยนเป็นสารครีเอตินีน (creatinine, Cr) ซึ่งจะถูกขับออกทางไต ระดับของ ครีเอตินีน (Cr) ในเลือด เป็นวิธีการหลักที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยภาวะไตวาย ดังนั้น กลุ่มคนไข้กลุ่มเดียว ที่ผู้เขียนไม่แนะนำให้ใช้อาร์จินีน หรือ ครีเอติน เป็นอาหารเสริม คือคนไข้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
แต่สำหรับคนที่กินอาหารเสริมสองชนิดนี้ แต่มีการทำงานของไตเป็นปกติ อาจตรวจพบค่าครีเอตินิน (Cr) ที่สูงกว่าปกติได้เล็กน้อย ซึ่งพอหยุดกิน ระดับของ Cr ก็จะกลับเป็นปกติ
อาร์จินีน อาหารเสริมเพิ่ม โกรท์ฮอร์โมน
โกรท์ฮอร์โมน (growth hormone) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เด็กเจริญเติบโต โดยออกฤทธิ์ผ่าน IGF-1 (insulin-like growth factor 1) ระดับของ IGF-1 ที่ต่ำกว่าปกติ จะช่วยบอกถึงภาวะโกรท์ฮอร์โมน ในผู้ใหญ่ โกรท์ฮอร์โมน จะมีหน้าที่ในการซ่อมแซมการบาดเจ็บของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซ่อมแซมกล้ามเนื้อ คนที่อายุมาก ๆ และขาดโกรท์ฮอร์โมน จะมีภาวะกล้ามเนื้อลีบเล็ก (sarcopenia) แม้จะออกกำลัง มีปัญหาหกล้มบ่อย รวมถึงมีการหลุดของข้อต่อต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งผู้เขียนตั้งชื่อว่า โรคหง่อม (frailty) ในคนชราเหล่านี้ หากตรวจพบว่ามีระดับของ IGF-1 ในเลือดที่ต่ำมาก ก็น่าจะได้ประโยชน์ จากการฉีดโกรท์ฮอร์โมนเสริมในขนาดต่ำ ๆ
เด็กที่ขาดโกรท์ฮอร์โมน จะเป็นโรคคนแคระ (Dwarfism) ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แต่ปัจจุบันนี้ พ่อแม่บางคนที่อยากให้ลูกสูง มักจะชอบไปปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ฉีด โกรท์ฮอร์โมนให้ ส่งผลให้เด็กสูงขึ้น ซึ่งเป็นค่านิยม ที่ผู้เขียนเกรงว่าอาจจะทำให้เด็กเหล่านี้แก่เร็ว เพราะมีการศึกษาในสัตว์ทดลองว่า การมีโกรท์ฮอร์โมนมากเกินไป ไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก และอันที่จริง โกรท์ฮอร์โมนจะสร้างได้ดีขึ้น ในคนที่มีการนอนหลับที่เพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังที่สม่ำเสมอ ดังนั้น พ่อแม่ที่อยากให้ลูกสูง ควรจะสนับสนุนให้ลูกออกกำลังให้มาก ๆ และบังคับให้ลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่ใช่ส่งลูกไปเรียนพิเศษจนดึกดื่น และปล่อยให้ลูกเล่นเกมตอนกลางคืน จนไม่มีเวลาหลับนอนที่เพียงพอ
สำหรับนักกีฬา หรือนักเพาะกาย ซึ่งมีอายุน้อย และมีการออกกำลังที่หนักเป็นประจำอยู่แล้ว ร่างกายจึงไม่ได้มีการขาดโกรท์ฮอร์โมน แต่ก็มีนักกีฬาหลายคน นิยมซื้อโกรท์ฮอร์โมนมาฉีดเสริม เพราะหลังฉีดจะรู้สึก ว่าตนเองเป็นซูเปอร์แมน มีพละกำลังมาก เล่นกล้ามได้ผลดี เข้าใจผิด ๆ ไปว่า เป็นแอนตี้เอจจิ้งฮอร์โมน หรือฮอร์โมนต้านแก่ แต่ความจริงก็คือ จากการศึกษาทั้งในสัตว์ทดลอง และในคน พบว่า การมี โกรท์ฮอร์โมน มากไป จะทำให้เซลล์แก่เร็วก่อนกำหนด ปัจจุบัน ในวงการกีฬา (ยกเว้นวงการนักกล้าม) ได้ถือว่า การใช้ฮอร์โมนใด ๆ เพื่อช่วยในการแข่งกีฬาเป็นสิ่งที่ผิดกฏ และนักกีฬาที่ประพฤติดังกล่าว ก็จะได้รับการลงโทษถึงขั้นตัดสิทธิ์ในการแข่ง
ดังนั้น นักกล้าม และนักกีฬา จึงหันมาหาวิธีการอื่น ซึ่งปลอดภัยกว่า และถูกต้องตามกฏ นั่นคือการกรดอะมิโน ชนิดรับประทาน นั่นก็คือ อาร์จินีน และ ออร์นิทีน การรับประทาน อาร์จินิน ในรูปอาหารเสริมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการสร้างโกรท์ฮอร์โมน เพื่อการซ่อมแซมเซลล์ในร่างกาย โดยไม่ทำให้ระดับของ โกรท์ฮอร์โมน ในเลือดสูงจนเป็นอันตรายเหมือนการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์
อาร์จินีน อาหารเสริมเพิ่ม ไนตริค ออกไซด์
ความสำคัญของ อาร์จินีน คือการเป็นสารตั้งต้นของ ไนตริค ออกไซด์ (NO) ซื่งมีคุณสมบัติในการช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว ยาที่ช่วยในการเพิ่มไนตริค ออกไซด์ จึงได้ถูกนำมาใช้เป็นยาขยายหลอดเลือด เช่น ในคนทีเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือ แม้แต่กลไกการออกฤทธิ์ของ ไวอะกร้า (Viagra) ก็เกิดจากการเพิ่มของ ไนตริค ออกไซด์ เช่นกัน การออกกำลัง เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการสร้างไนตริค ออกไซด์ เและหากเรารับประทาน อาร์จินีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้น ของไนตริค ออกไซด์ ร่วมด้วย ก็จะยิ่งช่วยให้การสร้างไนตริค ออกไซด์ มีประสิทธิภาพดี ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขยายตัว มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น และช่วยให้มีการสร้างกล้ามเนื้อใหม่ได้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้ อาร์จินินเป็นอาหารเสริมที่ได้รับความนิยมในหมู่นักกล้ามในปัจจุบัน
ผู้เขียนเชื่อว่า การใช้อาร์จินินเป็นอาหารเสริม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสร้าง ไนตริค ออกไซด์ น่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง หรือผู้ชายที่ไม่ได้เล่นกล้าม เพราะมีงานวิจัยพบว่า การลดลงของ ไนตริค ออกไซด์ คือสาเหตุของความผิดปกติของการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่โรคร้ายนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและสมองขาดเลือด และโรคไตวาย นอกจากนั้น ไนตริค ออกไซด์ ยังเป็นสารที่เซลล์เม็ดเลือดขาวสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อโรค และฆ่าเซลล์มะเร็งอีกด้วย จึงอาจเรียกได้ว่า ไนตริค ออกไซด์ เป็นโมเลกุลเพื่อชีวิต และการสร้างไนตริค ออกไซด์ ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมี กรดอะมิโนอาร์จินีน ที่เพียงพอ
อาร์จินีน อาหารเสริมสำหรับคนรักสุขภาพ
จะเห็นได้ว่า การรับประทานอาร์จินีนเสริมเป็นประจำ อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการสร้างครีเอติน เพื่อให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อ ช่วยในการสร้างโกรท์ฮอร์โมน เพื่อการซ่อมแซมร่างกาย ช่วยในการสร้างไนตริค ออกไซด์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายตัวของหลอดเลือด และระบบภูมิคุ้มกัน ไม่เพียงแต่เท่านั้น อาร์จินีนยังเป็นกรดอะมิโนที่ตับใช้เพื่อช่วยในการเปลี่ยน แอมโมเนีย ซึ่งเป็นพิษ ให้กลายเป็น ยูเรีย เพื่อขับออกทางไต จึงเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญ สำหรับกระบวนการล้างพิษที่ตับ (liver detoxification)
นอกจากนั้น ร่างกายยังสามารถเปลี่ยน อาร์จีนีน ให้เป็น โปรลีน (proline) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนหลักในโครงสร้างของคอลลาเจน ที่มีความสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก และผิวหนัง การรับประทานอาร์จินีนเสริม จึงอาจมีบทบาทช่วยเรื่องความแข็งแรงของกระดูก การหายของแผล รวมทั้งการป้องกันการหย่อนคล้อยของผิวหนังอีกด้วย ดังนั้น อาร์จินีน จึงไม่ได้เป็นเพียงอาหารเสริมของนักกล้ามเท่านั้น แต่ยังเป็นอาหารเสริมสำหรับคนทุกคน ที่ต้องการชะลอวัย และมีสุขภาพที่ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร. นพ. พัฒนา เต็งอำนวย
เอกสารอ้างอิง
1. Chromiak JA and Antonio J. Use of amino acids as growth hormone-releasing agents by athletes. Nutrition 2002; 18: 657-61.
2. Coman D et al. New Indications and Controversies in Arginine Therapy. Clin. Nutr. 2008; 27: 489-496.
3. Lavie, L. et al. Plasma levels of nitric oxide and L-arginine in sleep apnea patients, J. Mol. Neurosci 2003; 21: 57-63.
4. Merimee, T.J. et al. Effect of arginine on serum-levels of human growth hormone Lancet 1965; 2: 668-670.
5. Morris SM Jr. Arginine metabolism: boundaries of our knowledge. J Nutr. 2007; 137: 1602S-1609S.
6. Piatti, P.M. et al. Long-term oral L-arginine administration improves peripheral and hepatic insulin sensitivity in type 2 diabetic patients. Diabetes Care 2001; 24: 875-880.
7. Wu G. and Morris SM Jr. Arginine metabolism: nitric oxide and beyond Biochem. J. 1998; 336: 1-17